จากบริษัทจัดหางานไทยที่ไม่ประสงค์จะเปิดเผยนามกล่าวว่า มีพนักงานบริษัทจัดหางานไทยบางบริษัท นำแบบฟอร์มยื่นขอเปิดซิม ของค่ายมือถือในไต้หวัน ซึ่งมีตัวแทนอยู่ในประเทศไทย ไปหลอกให้คนงานเซ็น โดยนำไปปะปนกับเอกสารการเดินทางไปทำงานที่ไต้หวัน จากนั้นก็ยื่นขอเปิดซิมต่อค่ายโทรศัพท์มือถือ แล้วนำซิมการ์ดเหล่านี้ไปขายต่อให้แก๊งมิจฉาชีพในไต้หวันนำไปก่อคดี ในราคา 3,000 – 5,000 เหรียญ ต่อ 1 เบอร์ เมื่อตำรวจดักจับสัญญาณมือถือของแก๊งมิจฉาชีพได้ พบเจ้าของเบอร์มือถือเป็นคนงานไทย จะออกหมายเรียกให้ไปสอบปากคำ ฐานเป็นผู้ต้องหาต้มตุ๋น คนงานไทยบางคนได้รับหลายใบ ต้องขอให้ล่ามพาไปให้ปากคำที่สถานีตำรวจหลายท้องที่ ทำให้วิตกกังวล ถึงขั้นกินไม่ได้นอนไม่หลับ แม้ว่าสุดที่ท้ายคนงานไทยที่ตกเป็นเหยื่อเหล่านี้ ส่วนใหญ่จะไม่ถูกสั่งฟ้อง แต่กว่าคดีจะสิ้นสุด ก็ต้องเสียเวลาทำงาน และเสียสุขภาพจิตเป็นปี ขณะที่บางคนโชคร้าย ให้การกลับไปกลับมา ถูกพิพากษาจำคุก ต้องไปรับโทษในคดีที่ตนไม่ได้ก่อขึ้น
จากสถิติของสำนักงานแรงงานไทย ตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมาพบว่า มีแรงงานไทยที่ได้รับหมายเรียกไปให้ปากคำแล้วร่วม 300 คน ทั้งหมดถูกตั้งข้อหาเป็นเจ้าของเบอร์มือถือจากค่ายจงหัวเทเลคอม และไต้หวันโมบายหรือ โอเคการ์ด ก่อคดีต้มตุ๋น ปิดป้ายโฆษณาสินค้าอย่าผิดกฎหมายและขู่กรรโชกทรัพย์ทางโทรศัพท์ หลังเดินทางเข้าไต้หวันได้ 1-3 เดือน และส่วนใหญ่ไม่เคยไปขอเปิดซิมการ์ดมือถือจากร้านใดๆ
ทางสำนักงานแรงงานไทยในกรุงไทเป นอกจากทำหนังสือขอให้กระทรวงแรงงานออกประกาศเตือนบริษัทจัดหางานไทย ให้กวดขันกับพนักงานของตน ห้ามมีพฤติกรรมดังกล่าว หากยังปรากฏมีคนงานตกเป็นเหยื่ออีก บริษัทจัดหางานผู้จัดส่งจะต้องร่วมรับผิดชอบด้วย ฐานปล่อยปละละเลย ขณะเดียวกันก็ประชาสัมพันธ์ขอให้แรงงานไทยระมัดระวัง ขณะลงนามเอกสารใดๆ ก็ตาม ต้องตรวจดูชัดเจนก่อน หากไม่แน่ใจหรือเป็นเอกสารที่ไม่เกี่ยวข้อง ควรปฏิเสธลงนาม เพื่อปกป้องสิทธิประโยชน์ของตน
นอกจากนี้ แรงงานไทย ยังต้องเก็บรักษาซิมการ์ดมือถือของตนไว้ให้ดี ไม่ยืมหรือให้คนอื่นนำไปใช้ เพราะที่ผ่านมา เคยมีแรงงานไทยที่ครบสัญญา เดินทางกลับบ้าน ทิ้งมือถือไว้ให้เพื่อนใช้ เมื่อกลับเข้ามารอบใหม่ถูกจับทันที ข้อหาขู่กรรโชกทรัพย์ เจ้าตัวปฏิเสธก่อคดี และให้การว่าซิมมือถือทิ้งไว้ให้เพื่อนใช้ก่อนกลับประเทศ ไม่ทราบว่าเหตุใด จึงตกไปอยู่ในมือของแก๊งมิจฉาชีพได้ แต่เพื่อนคนดังกล่าว ก็ครบสัญญาเดินทางกลับบ้านไปแล้ว จึงไม่สามารถยืนยันความบริสุทธิ์ของแรงงานไทยรายนี้ได้ สุดท้ายก็ต้องเข้าคุกรับโทษตามกฎหมาย สำนักงานแรงงานเตือนว่า กรณีจะเดินทางกลับ หรือหมดความจำเป็นใช้แล้ว อย่าทิ้งหรือขายซิมการ์ดหรือมือถือให้คนอื่น เพราะจะสร้างความเดือดร้อนแก่ท่านได้โดยไม่รู้ตัว ควรหักทิ้งหรือทำลายเสีย เอกสารหรือข้อมูลส่วนตัวก็ต้องระมัดระวัง อย่าเปิดเผยหรือให้คนอื่นนำไปใช้ เพราะอาจนำไปเป็นเอกสารประกอบการยื่นของซิมการ์ดได้ และเครื่องมือถือก็เช่นเดียวกัน อย่ารับหรือซื้อมือถือมือสอง หรือเห็นของคนอื่นตกหล่น อย่าเก็บมาใช้เด็ดขาด แม้จะเปลี่ยนซิมเป็นเบอร์ของเราแล้ว เพราะมือถือทุกเครื่องจะมีรหัสอีมี่ เปรียบเสมือนเลขประจำตัวของมือถือแต่ละเครื่อง เวลาโทรออก เลขชุดนี้จะถูกส่งไปด้วย สามารถอ่านจากสัญญาณที่ดักจับได้ว่า โทรออกมาจากจุดใด ท่านอาจกลายเป็นผู้ต้องหารับซื้อของโจร หรือขโมยมือถือผู้อื่นไปใช้ ซึ่งเป็นคดีอาญามีโทษถึงจำคุกได้
ข้อมูลจาก สำนักงานแรงงานไทย ในกรุงไทเป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น