วันจันทร์ที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2562

ตรึกให้ได้ตลอดเวลานะลูกนะ

ตรึกให้ได้ตลอดเวลานะลูกนะ
มองดูพระมองดูดวงช่วงไสว
อิริยาบถทั้งสี่นี้เรื่อยไป
แต่อย่าใช้นัยน์ตาเวลามอง
ทำเหมือนว่าไม่มีหัวและดวงตา
มีเพียงหนึ่งกายาและใจสอง
ค่อยค่อยหยุดค่อยค่อยนิ่งค่อยค่อยมอง
เดี๋ยวจะร้องก้องฟ้า สุขจังเล้ย
ตะวันธรรม

Cr. เว็บ # กัลยาณมิตร 
http://kalyanamitra.org/th/article_detail.php?i=17829

วันเสาร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2562

#เปรตกับอสุรกายต่างกันอย่างไร

#เปรตกับอสุรกายต่างกันอย่างไร

 ความเป็นจริงแล้ว สัตว์ทั้งสองประเภทนี้มีส่วนคล้ายกัน คือล้วนแต่มีความทุกข์ยากแสนสาหัส มีความอดอยากเป็นนิจ

แต่เปรตยังดีกว่าอสุรกาย ตรงที่สามารถรับส่วนบุญที่ญาติมิตรจากโลกมนุษย์นี้อุทิศไปให้ ด้วยการอนุโมทนาพลอยยินดีได้ และเมื่อได้อนุโมทนาพลอยยินดีแล้วก็พ้นจากความอดอยากมีอาหารข้าวน้ำบริโภค บางครั้งเมื่ออนุโมทนาแล้วยังพ้นจากสภาพของเปรต เป็นเทวดาได้อีกด้วย

ส่วนอสุรกายนั้นได้รับความอดอยากแสนสาหัสเช่นเดียวกับเปรต แต่ก็ไม่อาจรับส่วนกุศลที่มีผู้อุทิศไปให้ได้ ต้องทนทุกข์อยู่อย่างนั้นจนกว่าจะสิ้นกรรม

ดังจะยกเรื่องของเปรตและอสุรกาย ตามที่มีกล่าวไว้ในอรรถกถา มาเล่าให้ฟัง เพื่อให้ท่านได้เห็นความแตกต่างกันของสัตว์ ๒ ประเภทนี้ชัดเจนขึ้น
ในอรรถกถาเปตวัตถุ อุตตรมาตุเปติวัตถุ ข้อ ๑๐๗ เล่าไว้ว่า
เมื่อพระบรมศาสดาปรินิพพานแล้ว และการกระทำสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งแรกสำเร็จแล้ว ท่านพระมหากัจจายนะพร้อมด้วยภิกษุ ๑๒ รูปอาศัยอยู่ในราวป่า ไม่ไกลจากกรุงโกสัมพี

ก็สมัยนั้น อำมาตย์ของพระเจ้าอุเทนคนหนึ่งซึ่งเป็นผู้จัดการการงานในพระนครสิ้นชีวิตลง พระราชาจึงทรงตั้งอุตตรมาณพ ซึ่งเป็นบุตรของอำมาตย์นั้นเป็นผู้ทำงานในหน้าที่นั้นแทนบิดา

วันหนึ่ง อุตตรมาณพพานายช่างไม้ไปป่า เพื่อต้องการไม้สำหรับซ่อมแซมพระนคร จึงเข้าไปยังที่อยู่ของท่านพระมหากัจจายนะ เห็นอิริยาบถอันน่าเลื่อมใสของพระเถระแล้วก็เลื่อมใส ได้กระทำปฏิสันถารกับพระเถระ

พระเถระได้แสดงธรรมแก่เขา เขาฟังธรรมแล้วได้ความเลื่อมใสยิ่งขึ้น ขอถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ ได้นิมนต์พระเถระพร้อมทั้งภิกษุทั้งหลายไปรับอาหารบิณฑบาตที่บ้านของตนในวันรุ่งขึ้น พระเถระรับอาราธนาโดยดุณีภาพ เมื่ออุตตรมาณพกลับไปแล้ว เขาได้บอกแก่อุบาสกคนอื่นให้ทราบว่า ได้นิมนต์พระเถระและภิกษุทั้งหลายให้มาฉันภัตตาหารในวันพรุ่งนี้ ขอเชิญท่านทั้งหลายมายังโรงทานของเรา

ครั้นรุ่งเช้าถึงเวลาอาหารแล้ว อุตตรมาณพก็ได้ถวายภัตตาหารที่ตนตระเตรียมไว้แด่พระเถระและภิกษุทั้งหลาย ๑๒ รูป พร้อมทั้งถวายเครื่องบูชามีดอกไม้ ของหอมเป็นอันมาก ฟังคำอนุโมทนาของพระเถระเมื่อฉันเสร็จแล้ว ด้วยความเคารพเลื่อมใส

เมื่อพระเถระจะกลับ ก็ได้นิมนต์ให้พระเถระและภิกษุทั้งหลายมายังเรือนของตนเนืองๆ พระเถระก็ได้มายังเรือนของเขาเนืองๆ เขาอุปัฏฐากบำรุงภิกษุทั้งหลายอยู่อย่างนี้ พร้อมทั้งตั้งอยู่ในคำพร่ำสอนของท่าน จึงได้ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล

ครั้นแล้วได้สร้างวิหารถวายพระเถระ ทั้งกระทำให้ญาติทั้งหลายของตนทั้งหมดเลื่อมใสในพระศาสนาด้วย

ในขณะที่ อุตตรมาณพเลื่อมใสในพระรัตนตรัย จนได้เป็นพระโสดาบันนั้น มารดาของเขากลับเป็นผู้ตระหนี่ ไม่ยินดีในการถวายทานของบุตรชาย ได้ด่าบริภาษอย่างนี้ว่า “เมื่อเรายังมีความต้องการอยู่ เจ้าให้สิ่งไรแก่พวกสมณะ ขอสิ่งนั้นจงเป็นเลือดแก่เจ้าในปรโลกเถิด”

นางได้ถวายหางนกยูงกำหนึ่งเท่านั้นในวันฉลองวิหาร ครั้นนางทำกาละตายลงได้เกิดเป็นเปรต แต่ด้วยอำนาจของบุญกรรมที่นางได้ถวายกำหางนกยูง นางจึงมีผมงามดำสนิท ละเอียดและยาว แต่ในเวลาที่นางเปรตลงน้ำเพื่อจะดื่มน้ำ น้ำในแม่น้ำก็เป็นเลือด นางเปรตถูกความหิวกระหายครอบงำเที่ยวไปถึง ๕๕ ปี

วันหนึ่งได้เห็นพระกังขาเรวตะเถระนั่งพักกลางวันอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำ จึงเอาผมปิดร่างกายเข้าไปขอน้ำดื่มจากพระเถระ

พระเถระจึงว่า น้ำในแม่น้ำนี้ใสสะอาดไหลมาจากภูเขาหิมพานต์ “ท่านจงดื่มน้ำในแม่น้ำนั้นเถิดจะมาขอน้ำกะเราทำไม”

นางเปรตก็บอกว่า “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ เมื่อใดที่ดิฉันตักน้ำในแม่น้ำนี้ดื่ม น้ำนั้นย่อมจะกลายเป็นเลือดไม่อาจดื่มได้ ดิฉันจึงขอน้ำดื่มจากท่าน”

พระเถระฟังแล้วก็ถามว่า “ท่านได้ทำกรรมชั่วอะไรไว้ด้วยกายวาจาใจหรือ น้ำในแม่น้ำจึงกลายเป็นเลือดปรากฏแก่ท่าน”

นางเปรตก็เล่าให้ฟังว่า “ดิฉันมีบุตรคนหนึ่งชื่ออุตตระเป็นอุบาสกมีศรัทธา เขาได้ถวายจีวรบิณฑบาต ที่นอน ที่นั่งและคิลานปัจจัยแก่พระสมณะทั้งหลาย ด้วยความไม่พอใจของดิฉัน ดิฉันถูกความตระหนี่ครอบงำ ด่าว่าเขา เจ้าอุตตระ เจ้าถวายจีวรบิณฑบาต ที่นอน ที่นั่งและคิลานปัจจัยแก่สมณะ ด้วยความไม่พอใจของเรานั้น จงกลายเป็นเลือดปรากฏแก่เจ้าในปรโลก เพราะวิบากแห่งกรรมนั้น น้ำในแม่น้ำคงคาจึงกลายเป็นเลือดปรากฏแก่ดิฉัน”

พระเถระได้ฟังดังนั้น จึงถวายน้ำดื่มแก่ภิกษุสงฆ์อุทิศให้เปรต เที่ยวบิณฑบาตมาได้แล้วถวายแด่ภิกษุทั้งหลาย ถือผ้าบังสุกุลจากกองหยากเยื่อเป็นต้น ซักให้สะอาดแล้วทำให้เป็นที่นอนและหมอนถวายแก่ภิกษุทั้งหลาย ด้วยการอุทิศทานที่พระกังขาเรวตะถวายแล้วแก่นางเปรตและนางเปรตอนุโมทนาแล้ว นางเปรตจึงได้ทิพยสมบัติ พ้นจากความเป็นเปรต แล้วได้ไปปรากฏกายให้พระเถระเห็น แสดงทิพยสมบัติแก่พระเถระ

พระเถระเล่าเรื่องของนางเปรตนั้นให้แก่บริษัท ๔ ที่มายังสำนักของท่านฟัง แล้วแสดงธรรม มหาชนฟังแล้วเกิดความสลดสังเวช เป็นผู้ปราศจากความตระหนี่ยินดีในกุศลธรรม มีทานและศีลเป็นต้น นี่เป็นเรื่องของนางเปรตที่พ้นจากความเป็นเปรตด้วยการอนุโมทนา หลังจากต้องอดข้าวอดน้ำอยู่ถึง ๕๕ ปี ด้วยอำนาจกรรมคือผรุสวาจาการด่าลูกชายที่ถวายทานแก่พระมหากัจจายนะและภิกษุทั้งหลาย หากมิได้พบท่านพระกังขาเรวตะ ก็คงยังไม่พ้นจากความเป็นเปรต

--------------------------------------------------------

คราวนี้ขอเชิญฟังเรื่องของอสุรกาย จากอรรถกถาวิภังคปกรณ์ สัมโมหวิโนทนีอรรถกถาบ้าง อรรถกถาท่านเล่าว่า มีอสุรกายพวกกาลกัญชิกะตนหนึ่งไม่อาจจะทนความกระหายน้ำได้ จึงลงไปยังแม่น้ำใหญ่ทั้งลึกทั้งกว้าง ๑ โยชน์ ในที่ที่อสุรกายตนนั้นลงไปแล้ว น้ำจะขาด มีควันพลุ่งขึ้น เป็นเหมือนเดินไปบนหินดาดร้อนๆ ฉะนั้น เมื่ออสุรกายตนนั้นได้ยินเสียงน้ำ แต่พอวิ่งลงไปตรงไหน น้ำก็ขาดหายไปตรงนั้น อสุรกายนั้นเที่ยววิ่งพล่านไปข้างโน้นข้างนี้อยู่อย่างนั้นตลอดคืนจนรุ่งเช้า

ขณะนั้น ภิกษุผู้เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตรประมาณ ๓๐ รูปได้ไปยังที่ภิกขาจารแต่เช้าทีเดียว เห็นอสุรกายตนนั้นเข้าจึงถามว่า “ท่านชื่ออะไร สัปปุรุษ”
อสุรกายตอบว่า “ผมเป็นเปรตเจ้าข้า”
จากคำตอบของอสุรกายที่ตอบว่าผมเป็นเปรตนี้แหละ แสดงว่าเปรตกับอสุรกายนี้เป็นพวกเดียวกันใช้แทนกันได้

คราวนี้ขอเชิญฟังเรื่องนี้ต่อไป เมื่ออสุรกายตอบว่า “ผมเป็นเปรต”

ภิกษุทั้งหลายก็ถามว่า “ท่านแสวงหาอะไรเล่า” อสุรกายตอบว่า “ผมแสวงหาน้ำดื่มเจ้าข้า”
ภิกษุก็กล่าวว่า “แม่น้ำนี้มีน้ำเต็มฝั่ง ท่านไม่เห็นหรือ”
อสุรกายตอบว่า “เห็นเจ้าข้า” แต่มันไม่สำเร็จประโยชน์แก่ผมเลย”

ภิกษุทั้งหลายจึงว่า “ถ้าเช่นนั้น ท่านจงนอนหงาย พวกอาตมาจะหยอดน้ำดื่มเข้าไปในปากท่าน”

อสุรกายทำตาม นอนหงายลงบนพื้นทราย ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นจึงนำบาตรของตนๆ ตักน้ำมาหยอดปากอสุรกายตนนั้น

เมื่อภิกษุทั้งหลายทำอยู่อย่างนั้นก็ได้เวลาบิณฑบาต จึงถามว่า “ท่านได้รับความพอใจบ้างไหม คือได้ดื่มน้ำบ้างไหม”

อสุรกายตอบว่า “ท่านเจ้าข้าถ้าหากว่าน้ำเพียงกึ่งฟายมือ จากบาตรประมาณ ๓๐ ลูกที่พระคุณเจ้าทั้ง ๓๐ รูปหยอดเข้าปากผมนั้น ถ้าน้ำนั้นเข้าไปสู่ลำคอของผมแม้เพียงน้อยนิดแล้วละก็ ขอความพ้นจากอัตภาพเปรตจงอย่าได้มีแก่ผมเลย”

เป็นอันว่าน้ำสักหยดเดียวจากบาตรถึง ๓๐ บาตรมิได้ล่วงลำคอเปรตเข้าไปเลย เปรตคืออสุรกายตนนั้นก็ต้องทนต่อความกระหายน้ำต่อไปอีก เพราะกรรมของเขาหนักมากจนไม่อาจจะรับความกรุณาจากภิกษุทั้งหลายได้

อสุรกายจึงลำบากกว่าเปรต ทั้งรับความกรุณาจากใครก็ไม่ได้ เพราะบาปกรรมที่ตนทำไว้นั้นหนักเกินกว่าที่ใครๆ จะอนุเคราะห์ได้ อสุรกายจึงต้องทนทุกข์ทรมานอยู่ในภพภูมิที่ตนเกิด นับเป็น ๑-๒ พุทธันดรก็มี

มีท่านผู้รู้ท่านตั้งข้อสังเกตไว้ว่า เปรตและอสุรกายมีข้อแตกต่างกันดังนี้

เปรตทั้งหลายมีความอดอยากอาหารเป็นสัญลักษณ์เครื่องทรมาน

ส่วนอสุรกายทั้งหลายนั้น มีความหิวกระหายน้ำเป็นสัญลักษณ์เครื่องทรมาน

ทั้งหมดนี้ คือแตกต่างกันของเปรตและอสุรกายตามอรรถกถา
________________________________________

ที่มา
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๖ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๘
ขุททกนิกาย วิมาน-เปตวัตถุ เถร-เถรีคาถา
อุตตรมาตุเปตวัตถุ
ว่าด้วย บุพกรรมของอุตตรมาตุเปรต


วันศุกร์ที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2562

บันทึกการเดินทาง india

บันทึกการเดินทาง
ชีวิตคือการเรียนรู้
17 พ.ย. ไป #สารนาถ สักการะ #ธัมเมกขสถูป สถานที่แสดงปฐมเทศนา ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร #ป่าอิสิแตนมฤคทายวัน
18 พ.ย. กราบ #มหาสถูปเจดีย์พุทธคยา สถานที่ประทับตรัสรู้อริยสัจ 4 บรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาน 
19 พ.ย. ไป #ราชคฤห์ กราบ #พระมูลคันธกุฎิ ณ #เขาคิชฌกูฏ และ #วัดเวฬุวันวิหาร วัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนาที่ #พระเจ้าพิมพิสาร สร้างถวาย, ไป #นาลันนา ดูร่องรอย อารายธรรมความรุ่งเรืองของมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งแรกของพุทธศาสนา
20 พ.ย. ไป ปัฏนา - ไวสาลี - กุสินารา กราบ #คันธเจดีย์ สถานที่กษัตริย์ลิจฉวี จัดพิธีต้อนรับพระพุทธเจ้า, #ปาวาลเจดีย์ สถานที่ปลงอายุสังขาร, #มหาปรินิพพานสถูป สถานที่ดับขันธปรินิพพาน, #มกุฏพันธนเจดีย์ สถานที่ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ , ทอดผ้าป่า #วัดไทยกุสินารา
21 พ.ย. ไป #ลุมพินีวัน (เนปาล) #วิหารมายาเทวี สถานที่ #ประสูติ, ทอดผ้าป่า #วัดไทยนวราชรัตนาราม (960) 
22 พ.ย. จาก #ลุมพินี สู่ #สาวัตถี ไป #วัดเชตวันวิหาร อารามของท่าน อนาถบิณฑิกะเศรษฐี, นมัสการ #พระคันธกุฎี , ไปบ้านท่าน อนาถบิณฑิกะเศรษฐี และ #พระองคุลีมาล, ทอดผ้าป่า #วัดไทยเชตวัน 
23 พ.ย. จาก สาวัตถี สู่ #ลัคเนาว์ และ #เดลลี 
24 พ.ย. ณ เดลลี นั่งสมาธิ ณ เมือง #กัมมาสทัมมะนิคม สถานที่ทรงแสดงพระเทศนา เรื่อง #มหาสติปัฏฐาน4 แก่ชาวกุรุ, ศึกษา ณ #พิพิธภัณฑ์มหาตมะคานธี 
25 พ.ย. เดลลี สู่ #สุวรรณภูมิ



Cr.พระสนิทวงศ์ วุฒิวํโส


ส่วนแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ

เมื่อข่าว พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแพร่กระจายไปยังนครต่างๆ อย่างรวดเร็ว ผู้ครองนครทั้ง ๗ ส่งคณะทูตมาขอส่วนแบ่งพระบรมสารีริกธาตุไปสักการบูชา อันประกอบด้วย
๑. พระเจ้าอชาตศัตรูแห่งกรุงราชคฤห์
๒. กษัตริย์ลิจฉวีทั้งหลายแห่งเมืองไพศาลี
๓. กษัตริย์ศากยะแห่งเมืองกบิลพัสดุ์
๔. กษัตริย์โลกิยะแห่งรามคาม
๕. มัลลกษัตริย์ทั้งหลายแห่งเมืองปาวา
๖. มหาพราหมณ์แห่งเมืองเวฏฐทีปกะ
๗. เจ้าถูลี (ฐลิยะ) แห่งเมืองอัลลกัปปะ
เหล่ามัลลกษัตริย์ (แห่งเมืองกุสินารา) ตอบปฏิเสธแข็งขันไม่ยอมแบ่งให้ สงครามเลือดกำลังจะระเบิดขึ้น พอดีพราหมณ์ นามว่า โทณะ มาเจรจาขอให้สงบศึก และรับอาสาแบ่งพระบรมสารีริกธาตุออกเป็น ๘ ส่วนเท่าๆ กัน แล้วมอบให้ผู้ครองนครทั้ง ๘ นำไปสักการบูชาที่บ้านเมืองของตน
วาทะของโทณพราหมณ์ที่สามารถ “ปลุกสติ” คณะทูตจากเมืองทั้งหลาย มีดังนี้ครับ
สุณนฺตุ โภนฺโต มม เอก วากฺยํ อมฺหาก พุทฺโธ อหุ ขนฺติวาโท
น หิ สาธุกํ อุตฺตมปุคฺคลสฺส สรีรภาเค สย สมฺปหาโร
สพฺเพว โภนฺโต สหิตา สมคฺคา สมฺโมทมานา กโรมฏฐภาเค
วิตฺถาริกา โหนฺตุ ทิสาสุ ถูปา พหู ชนา จกฺขุมโต ปสนฺนา
คำแปลจากปฐมสมโพธิกถา ว่า
“ท่านทั้งหลายจงสดับคำแห่งเราสักครู่หนึ่ง ซึ่งพระบรมครูแห่งเราย่อมตรัสเทศนาซึ่ง #ขันติธรรม ว่าประเสริฐแล ซึ่งมาเกิดยุทธประหารในที่พระสารีริกธาตุ อันศาสดาปรินิพพานนี้ บ่มิดี บ่มิสมควร
ดูกรท่านทั้งหลาย จงอดกลั้นเสียซึ่งโทษ จึงคิดประนีประนอมพร้อมหฤทัยยินดีด้วยกัน เราจะแบ่งปันพระบรมธาตุออกเป็น ๘ ส่วน ให้แก่บพิตรทั้งปวงตามควร องค์ละส่วนเสมอกัน จะได้อัญเชิญไปก่อพระสถูปบรรจุไว้ทุกพระนคร เป็นที่ให้ไหว้บูชาแห่งมหาคนในทิศทั้งหลายต่างๆ”
เมื่อกษัตริย์ทั้งปวงได้สดับรับคำแห่งโทณพราหมณ์พร้อมกันแล้ว จึงตรัสว่า “ถ้าฉะนั้น อาจารย์จงแบ่งปันพระสารีริกธาตุออกเป็น ๘ ส่วน ควรจะแจกให้ข้าพเจ้าทั้งปวง”
เป็นอันว่าโทณพราหมณ์ได้ช่วยระงับสงครามแย่งพระบรมสารีริกธาตุ ทำหน้าที่แจกแบ่งพระบรมสารีริกธาตุของพระศาสดาให้ชาวพระนครทั้ง ๘ นำไปบูชาที่บ้านเมืองของตน กษัตริย์โมริยะจากปัปผลิวันมาไม่ทัน จึงได้พระอังคารธาตุไปบูชา

Cr.พระสนิทวงศ์ วุฒิวํโส

พุทธคยา

พุทธคยา (บาลี: พุทฺธคยา, อังกฤษ: Bodh Gaya, Mahabodhi Temple, ฮินดี: बोधगया) คือคำเรียกกลุ่มพุทธสถานสำคัญใน อำเภอคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นพุทธสถานที่มีความสำคัญที่สุด 1 ใน 4 แห่ง ของชาวพุทธ เนื่องจากเป็นที่ตั้งของสถานที่ตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทธสังเวชนียสถานที่มีความสำคัญที่สุดของชาวพุทธทั่วโลก ปัจจุบันบริเวณพุทธศาสนสถานอันเป็นที่ตั้งของสถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า วัดมหาโพธิ อยู่ในความดูแลของคณะกรรมการร่วม พุทธ-ฮินดู
เมื่อพระพุทธองค์ได้ตรัสรู้แล้ว พระองค์ก็ได้ประทับอยู่ ณ พุทธคยา เพื่อเสวยวิมุตติสุข (ความสุขอันเกิดจากความหลุดพ้น) อยู่ 7 สัปดาห์ และเกิดเรื่องราวต่าง ๆ มากมาย ณ โพธิมณฑลแห่งนี้ภายในเวลา 7 สัปดาห์ดังกล่าว ซึ่งรวมถึงเรื่องราวของตปุสสะ และภัลลิกะ 2 พ่อค้า ที่เดินทางผ่านมาเห็นพระพุทธองค์มีพระวรกายผ่องใส จึงเข้ามาถวายข้าวสัตตุผลและสัตตุก้อน แล้วแสดงตนเป็นทวิวาจกอุบาสก ผู้ถึงพระพุทธและพระธรรมเป็นสรณะคู่แรกของโลก และพระพุทธองค์ได้ทรงประทานพระเกศาแก่พ่อค้าทั้งคู่เป็นที่ระลึกในพุทธานุสสติด้วย
พุทธคยาในสมัยพุทธกาล หลังจากการตรัสรู้และเสวยวิมุตติสุขของพระพุทธองค์แล้ว ไม่ปรากฏหลักฐานว่าพระพุทธองค์ได้เสด็จมา ณ ที่แห่งนี้แต่อย่างใด มีกล่าวถึงในอรรถกถาแต่เมื่อคราวพระอานนท์ ได้มา ณ พุทธคยา เพื่อนำเมล็ดพันธ์ต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่เจ้าชายสิทธัตถะตรัสรู้กลับไปปลูก ณ วัดพระเชตวัน เมืองสาวัตถี ตามความต้องการของอนาถบิณฑิกเศรษฐี ซึ่งปรารถนาให้มีสิ่งเตือนใจเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จไปประทับที่อื่น ต่อมาต้นโพธิ์ต้นที่อยู่ ณ วัดพระเชตวันจึงได้ชื่อว่าอานันทโพธิ์ และยังคงยืนต้นมาจนถึงปัจจุบัน







Cr.พระสนิทวงศ์ วุฒิวํโส

บ้านนางสุชาดา

SUJATA GARH บ้านนางสุชาดา
ผู้หญิงสร้างโลก
ผู้หญิงคนแรกที่อุปัฏฐากย์พุทธศาสนา
🌟🌟🌟🌟🌟
นางสุชาดา เป็นธิดาของเสนานีกุฏมพี (อรรถกถาว่าเสนียะ) ในหมู่บ้านเสนานิคม ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม เมื่ออายุย่างเข้าสู่วัยสาวนางได้ทำพิธีบวงสรวงต่อเทพยดาที่สิงสถิต ณ ต้นไทรใหญ่ต้นหนึ่งใกล้บ้านของนาง โดยได้ตั้งปณิธานความปรารถนาไว้ 2 ประการ คือ
1. ขอให้ได้สามีที่มีบุญ มีทรัพยสมบัติ และชาติสกุลเสมอกัน
2. ขอให้มีบุตรคนแรกเป็นชาย
ถ้าความปรารถนาทั้ง 2 ประการ สำเร็จสมบูรณ์แล้ว จะทำพลีกรรมแก่ท่านด้วยของอันมีมูลค่า 100,000 กหาปณะ
ครั้นกาลต่อมา ความปรารถนาของนางสำเร็จทั้งสองประการ โดยได้สามีเป็นเศรษฐีมีฐานะเสมอกัน และได้บุตรคนแรกเป็นชายนามว่า ยสะ นางได้ปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไปจนลูกชายแต่งงานแล้ว จึงปรารภที่จะทำพลีกรรมบวงสรวงสังเวยเทพยดาด้วยข้าวมธุปายาสเสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้นางทาสีสาวใช้ไปปัดกวาดทำความสะอาดบริเวณโคนต้นไทรนั้น
ขณะนั้น พระโคตมโพธิสัตว์เลิกอัตตกิลมถานุโยค หันมาเสวยพระกระยาหารหวังจะบำเพ็ญเพียรทางจิต ประทับนั่งพักผ่อนที่ใต้ต้นไทรนั้น ผินพระพักตร์ทอดพระเนตรไปทางทิศตะวันออก มีพระรัศมีแผ่ซ่านออกจากพระวรกายเป็นปริมณฑลดูงามยิ่งนัก นางทาสีสาวใช้เห็นแล้วก็ตระหนักแน่ในจิตคิดว่า คงเป็นเทวดาเจ้า มานั่งคอยท่ารับเครื่องพลีกรรม จึงมิได้เข้าไปทำความสะอาดดังที่ตั้งใจมา รีบกลับไปแจ้งแก่นางสุชาดา โดยด่วน
ฝ่ายนางสุชาดาจึงรีบแต่งกายด้วยเครื่องอาภรณ์อันงดงามเป็นที่เรียบร้อยแล้วยกถาดข้าวมธุปายาสขึ้นทูลศีรษะ ออกจากบ้านพร้อมด้วยบริวารไปยังต้นไทรนั้น ครั้นได้เห็นพระโพธิสัตว์งดงามเช่นนั้น ก็เกิดโสมนัสยินดีสำคัญว่าเป็นรุกขเทวดามานั่งคอยรับเครื่องพลีกรรม จึงน้อมนำเข้าไปถวายพร้อมทั้งถาดทองคำ
เมื่อพระบรมโพธิสัตว์ทรงรับข้าวมธุปายาสแล้ว เสด็จไปประทับที่โคนต้นพระศรีมหาโพธิ์ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ทรงบำเพ็ญเพียรทางจิตและได้ตรัสรู้เป็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้าในวันนั้น หลังจากได้ประทับเสวยวิมุติสุข คือสุขอันเกิดจากการตรัสรู้บริเวณใกล้ ๆ นั้นเป็นเวลา 7 สัปดาห์ รวม 49 วัน แล้วได้เสด็จไปแสดงธรรมโปรดปัญจวัคคีย์ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี
หลังจากยสะ บุตรชายคนโตได้บรรลุเป็นพระอรหันต์และอุปสมบทแล้ว พระพุทธเจ้าและพระสาวกรวมทั้งพระยสะได้ฉันภัตตาหารที่บ้านของนาง พระพุทธเจ้าแสดงพระธรรมเทศนาจบแล้วนางสุชาดาและอดีตภริยาของพระยสะได้บรรลุโสดาบันและถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะทั้งสองคน







Cr.พระสนิทวงศ์ วุฒิวํโส

บรรยากาศที่พุทธคยาวันนี้ 17 พ.ย. 2561

บรรยากาศที่พุทธคยาวันนี้ 17 พ.ย. 2561







Cr.พระสนิทวงศ์ วุฒิวํโส

ธัมมราชิกสถูป หรือ “ธรรมราชิกสถูป” อนุสรณ์สถานแห่งการแสดง #อนัตตลักขณสูตร

ธัมมราชิกสถูป หรือ “ธรรมราชิกสถูป”
อนุสรณ์สถานแห่งการแสดง #อนัตตลักขณสูตร
ธัมมราชิกสถูป หรือ “ธรรมราชิกสถูป”
(สถูปซึ่งเป็นอนุสรณ์ถึงพระธรรมราชาหรือพระพุทธเจ้า)
ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี ปัจจุบันเรียกว่า สารนาถ สร้างขึ้นในรัชสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช
ปัจจุบันเหลือเพียงซากฐานสถูปเท่านั้น
โดยตัวสถูปได้ถูกรื้อถอนเพื่อนำอิฐออกไปใช้ในการก่อสร้างอย่างอื่น
สำหรับพระบรมสารีริกธาตุที่บรรจุไว้ในองค์สถูปนั้น ก็ได้ถูกอัญเชิญไปทำพิธีลอยบาปในแม่น้ำคงคาตามความเชื่อของพราหมณ์
อาณาบริเวณธัมมราชิกสถูปนี้กว้างขวางมาก สามารถเดินติดต่อไปยัง ธัมมเมกขสถูป (อนุสรณ์สถานแห่งการแสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตร) ได้
และตั้งอยู่ไม่ห่างจากบริเวณ พระมูลคันธกุฏีวิหาร
โดยได้สร้างขึ้นในสมัยเดียวกันกับการสร้างธัมมเมกขสถูป
บริเวณฐานสถูปเป็นลานหินอยู่ในบริเวณสนามหญ้า มีที่นั่งพอนั่งได้ ๓๐ คน ห่างจากธัมมเมกขสถูปไปทางด้านทิศตะวันตกประมาณ ๓๐๐ เมตร
เชื่อกันว่า ธัมมราชิกสถูปเป็นสถานที่ที่พระพุทธเจ้า ทรงประทับจำพรรษาในช่วงฤดูฝนแรก หลังจากทรงตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว
ธัมมราชิกสถูปสร้างขึ้นเป็นอนุสรณ์ในสถานที่ที่เชื่อว่า เป็นที่ประทับแสดงทุติยเทศนา คือ “อนัตตลักขณสูตร” โปรดแก่ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕
หลังจากวันที่พระพุทธองค์ทรงแสดง “ธัมมจักกัปปวัตนสูตร”
คือพระสูตรว่าด้วยการหมุนกงล้อแห่งพระธรรม อันเป็นพระสูตรแรกในพระพุทธศาสนาแล้ว
ประวัติแสดงไว้ว่าหลังจากที่โปรดอัญญาโกณทัญญะ จนได้บรรลุโสดาปัตติผลแล้ว ทรงโปรดปัญจวัคคีย์คนอื่นๆ อีก คือ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสสชิ ในวันต่อๆ มา ทั้ง ๔ ท่านได้บรรลุโสดาปัตติผลและทูลขอบวช
และในวันแรม ๕ ค่ำ เดือน ๘ นั่นเอง
พระพุทธองค์ได้ทรงแสดง “อนัตตลักขณสูตร” โปรดแก่ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕
ทำให้ทั้งหมดได้เข้าใจชัดเจนถึงความเป็นอนัตตา ความไม่ใช่ตัวตนถาวรเที่ยงแท้ของขันธ์ ของสังขารธรรม
ทำให้ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ สามารถเพิกถอนอุปทาน อาสวะในจิตของตนได้
และได้บรรลุเป็นพระอรหันต์พร้อมกันเป็นครั้งแรกของโลกในที่สุด




Cr.พระสนิทวงศ์ วุฒิวํโส



#พิพิธภัณฑ์โบราณคดีสารนาถ

วัตถุชิ้นสำคัญ ได้แก่
1.พระพุทธรูปปางปฐมเทศนา ที่สมบูรณ์ที่สุดในโลก งามแท้ๆ
2. เสาหินพระเจ้าอโศก หัวสิงห์ 4 หัว ที่ยังคงสภาพสมบูรณ์มาก แม้จะไม่ครบร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่สภาพของวัสดุที่เป็นหินทรายแดงนั้น ยังขึ้นเงาวับ .... ผลมาจากความมุ่งมั่นตามรอยพระพุทธศาสนา ของเซอร์อเล็กซานเดอร์ คันนิงแฮม (Sir Alexander Cunningham) นักโบราณคดีชาวอังกฤษ จนค้นพบหลักฐานชิ้นสำคัญคือ เสาอโศก (Asoke Pillar) ยืนยันว่า สถานที่นี้เป็นของพุทธศาสนา ... ซึ่งหัวเสานี้ถูกนำมาใช้เป็นตราแผ่นดินของอินเดียจนถึงปัจจุบัน




Cr.พระสนิทวงศ์ วุฒิวํโส

ธรรมเมกขสถูป /สารนาถ ในปัจจุบัน

"สวดธรรมจักร ณ ที่แสดงธรรมจักร"
พระอาจารย์นำบุญ สวดธัมมจักกัปปวัตตนสูตร เวียนประทักษิณ และนั่งสมาธิ ณ ธรรมเมกขสถูป มาฝากทุกๆ ท่าน
🙏🙏🙏🙏🙏
ธรรมเมกขสถูป (อังกฤษ: Dhamek Stupa) พระสถูป เก่าแก่ในพระพุทธศาสนาที่ตั้งอยู่ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน (สารนาถ ในปัจจุบัน)
ธรรมเมกขสถูป เป็นพระสถูปที่ พระเจ้าอโศกมหาราช โปรดให้สร้างขึ้นตรงจุดที่เชื่อกันว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงปฐมเทศนา ธัมมจักกัปปวัตนสูตร แก่ ปัญจวัคคีย์ ทั้ง 5




Cr.พระสนิทวงศ์ วุฒิวํโส

เจาขัณฑีสถูป

เจาขัณฑีสถูป Chaukhandi Stupa (อังกฤษ: चौखंडी स्तूप) พระสถูปเก่าแก่ในพระพุทธศาสนา ตั้งอยู่ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน (สารนาถ ในปัจจุบัน)
เจาขัณฑีสถูปแห่งนี้ พระเจ้าอโศกมหาราชโปรดให้สร้างขึ้นตรงจุดที่พระโคตมพุทธเจ้าทรงพบกับปัญจวัคคีย์ ก่อนที่พระองค์จะทรงแสดงธัมมจักกัปปวัตนสูตร

Cr.พระสนิทวงศ์ วุฒิวํโส

ดงคสิริ

จะมีสักกี่คนที่จะเอาชีวิตเป็นเดิมพันในการบรรลุธรรม กับ 6ปีที่ทำให้รู้ว่าไม่ใช่ ๐ เขาสูงแค่ไหนแต่ถ้ายังไม่บรรลุธรรม กิเลสก็ยังตามไปถึง
ดงคสิริ
สถานที่บำเพ็ญทุกรกิริยาของเจ้าชายสิทธัตถะ
ก่อนที่จะทรงตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ
ตำบลพุทธคยา จังหวัดคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย
(ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ในสมัยพุทธกาล)
หลังจากทรงผนวชแล้ว เจ้าชายสิทธัตถะจึงทรงมุ่งไปที่แม่น้ำคยา แคว้นมคธ ได้พยายามเสาะแสวงทางพ้นทุกข์ ด้วยการศึกษาค้นคว้าทดลองในสำนักอาฬารดาบส กาลามโครตร และอุทกดาบส รามบุตร เมื่อเรียนจบทั้งสองสำนัก (บรรลุฌาณชั้นที่ ๘) ก็ทรงเห็นว่าไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ตามที่มุ่งหวังไว้
จากนั้นจึงเสด็จไปที่แม่น้ำเนรัญชรา ในตำบลอุรุเวลาเสนานิคม (ในปัจจุบันสถานที่แห่งนี้เรียกว่า ดงคสิริ) เมื่อบำเพ็ญทุกรกิริยาโดยขบฟันด้วยฟัน กลั้นหายใจและอดอาหาร หลังจากทดลองมา ๖ ปี ก็ยังไม่พบทางพ้นทุกข์ จึงทรงเลิกบำเพ็ญทุกรกิริยา หันมาบำรุงพระวรกายโดยปกติตามพระราชดำริว่า “เหมือนสายพิณควรจะขึงพอดี จึงจะได้เสียงที่ไพเราะ” ซึ่งพระอินทร์ได้เสด็จลงมาดีดพิณ ๓ สายถวาย พิณสายหนึ่งขึงไว้ตึงเกินไป พอถูกดีดก็ขาดผึงออกจากกัน พิณสายที่สองหย่อนเกินไป ดีดไม่ดัง พิณสายที่สามไม่หย่อนไม่ตึงนัก ดีดดัง ไพเราะ จึงพิจารณาเห็นทางสายกลางว่าเป็นหนทางที่จะนำไปสู่พระโพธิญาณได้
ถ้ำดงคสิริ เป็นถ้ำหินแข็งมีขนาดประมาณ ๙ ตารางเมตร (คงเป็นขนาดเดียวกันกับสมัยที่พระโพธิสัตว์ทรงบำเพ็ญเพียร) ต้องเดินขึ้นเชิงเขาดงคสิริขึ้นไป มีวัดธิเบตตั้งอยู่ใกล้ถ้ำ เห็นธงหลากสีของชาวธิเบตผูกติดกับเชือกเป็นสายยาวระโยงระยาง ทั้งยังเป็นหน้าผาชันตัดตรงลงมา มีช่องประตูพอให้คนเข้าไปได้ เพราะเหตุที่ถ้ำนี้เป็นถ้ำจากผนังเขา ไม่ใช่ถ้ำที่อยู่ติดดิน พอนานปีก็มักมีดินพอกพูนจนพื้นถ้ำตื้นเขินทำให้ถ้ำมีขนาดเล็กลง
“ดงคสิริ” หรือตุงคสิริ หรือทุกรกิริยาบรรพต สถานที่บำเพ็ญทุกรกิริยาของเจ้าชายสิทธัตถะ ก่อนที่จะทรงตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ คำว่าบำเพ็ญทุกรกิริยา แปลตามรูปศัพท์ได้ว่า “การกระทำที่ทำได้ยาก” ที่เน้นไปทางการทรมานร่างกายเสียส่วนใหญ่ ตั้งอยู่ห่างจากพระมหาเจดีย์พุทธคยาหรือพระมหาโพธิเจดีย์ ไปประมาณ ๑๖ กิโลเมตร อยู่ระหว่างหลักไมล์ที่ ๔ จากเมืองคยา ต้องข้ามแม่น้ำเนรัญชราไปไกลพอสมควร ปัจจุบันอยู่ในตำบลพุทธคยา อำเภอคยา จังหวัดคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย







Cr.พระสนิทวงศ์ วุฒิวํโส

พระพุทธเมตตา

พระอาจารย์หรรษา นำนิสิต มจร. ป.โท , ป.เอก หลักสูตรสันติศึกษาห่มผ้า #พระพุทธเมตตา ในเจดีย์พุทธคยา ... เอาบุญมาฝากทุกๆ ท่าน ให้มีแต่ความสุขความเจริญ มีแต่คนเมตตาเทอญ
🌟🌟🌟🌟
พระพุทธเมตตา เป็นพระพุทธรูปในวัดพระมหาโพธิ ใกล้กับต้นพระศรีมหาโพธิ์ ที่ตรัสรู้ของพระโคตมพุทธเจ้า ในตำบลพุทธคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดียในปัจจุบัน (หรือแคว้นมคธ ชมพูทวีป ในสมัยพุทธกาล) พระพุทธเมตตาองค์นี้เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะสมัยปาละ และสร้างในสมัยนั้นด้วยหินแกรนิตสีดำ มีอายุกว่า ๑,๔๐๐ ปี​ แต่ไม่ปรากฏว่าสร้างเมื่อใด
หลวงพ่อพระพุทธเมตตา ถือว่าเป็นพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์ ประดิษฐานภายในเจดีย์พุทธคยา ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๑๔๗ เซนติเมตร สูง ๑๖๕ เซ็นติเมตร สร้างด้วยเนื้อหินทราย สมัยปาละ มีอายุประมาณ ๑๔๐๐ ปี ผินพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก ซึ่งได้รอดพ้นจากการถูกทำลายได้
ในศตวรรตที่ ๑๓ มีกษัตริย์ฮินดูนามว่าพระเจ้าสาสังกา ของรัฐเบงกอล ที่ไม่ต้องการที่จะอยู่ภายใต้การปกครองของแคว้นมคธ ซึ่งมีพระเจ้าปุรณวรมา เป็นผู้ปกครองในสมัยนั้น ต้องการประกาศตนเป็นอิสระ จึงได้กรีฑาทัพมาทำลายจุดศูนย์กลางของแคว้นมคธ คือบริเวณดินแดนแห่งต้นพระศรีมหาโพธิ์ทันที ด้วยหมายจะทำลายขวัญของกษัตริย์และประชาชนเสียก่อน แล้วจึงค่อยยกทัพไปตีเมืองหลวงในขั้นต่อไป เพราะบริเวณพุทธคยานี้มีต้นพระศรีมหาโพธิ์และพระพุทธเมตตาเป็นหัวใจสำคัญที่ชาวพุทธให้ความเคารพนับถือกราบไหว้บูชากันมาก ทำให้การขยายตัวทางพระพุทธศาสนาได้อย่างกว้างขวางมากขึ้น
เมื่อกษัตริย์ชาวฮินดูได้เข้ายึดบริเวณพุทธคยาแล้วได้รับสั่งให้ทหารเริ่มระร้านกิ่งก้านสาขาต้นพระศรีมหาโพธิ์และตัดรากจนหมดสิ้น แม้แต่รากต้นพระศรีมหาโพธิ์จะเลื้อยชอนไชไปในทิศทางใดก็สั่งให้ทหารขุดรากออกให้หมด จากนั้นก็สั่งให้ฟางอ้อยต่างเชื้อเพลิงวางสุ่มที่ตอแห่งต้นพระศรีมหาโพธิ์แล้วลาดน้ำมันจุดไฟเผา ด้วยประสงค์จะมิให้หน่อแห่งต้นพระศรีมหาโพธิ์ได้มีโอกาสงอกขึ้นมาเลย
จากนั้นรับสั่งให้ทหารเข้าไปในพระมหาวิหารแล้วสั่งให้เสนาบดีนำพระพุทธรูปปางมารวิชัย เนื้อหินทราย ออกไปจากมหาวิหาร แต่เผอิญเสนาบดีเป็นผู้มีศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้าคิดว่า ถ้ามาตรแม้นว่าเราจะนำพระพุทธรูปองค์นี้ออกไปเสียจากวิหารแล้วไซร์ ก็เกรงกลัวว่าจะเกิดไม่ทันศาสนาพระศรีอาริย์ แต่ถ้าเราไม่นำออกไปตามพระบัญชา เราก็จะต้องถูกประหารชีวิตโดยไม่ต้องสงสัย ทันใดนั้น ความคิดอย่างหนึ่งก็ได้เกิดขึ้นมา แล้วกราบทูลแต่พระราชาว่า พระพุทธรูปองค์นี้ใหญ่โตมากยากที่จะนำออกไปในวันนี้ได้ ข้าพระองค์ใคร่ขอโอกาสสัก ๗ วัน เพื่อหาทางนำพระพุทธรูปองค์นี้ออกไปจากพระวิหารให้จงได้ พระเจ้าสาสังกาจึงตกลงพระทัยยอมให้ปฏิบัติตามคำขอร้องของเสนาบดี
ฝ่ายเสนาบดี ครั้นให้คำมั่นสัญญาเรียบร้อยแล้ว จึงได้เริ่มแผนการตามที่ตนคิดไว้ในใจ โดยใช้แผ่นอิฐมากก่อเป็นกำแพงกำบังพระพุทธรูปไว้อย่างมิดชิด พร้อมกับตั้งประทีปโคมไฟบูชาไว้ภายในกำแพงที่กั้นปิดไว้
ครั้นครบ ๗ วันจึงกราบทูลพระราชาว่า บัดนี้เกล้ากระหม่อมฉันได้จัดการนำพระพุทธรูปออกไปจากพระมหาวิหารแล้ว พระเจ้าสาสังกา พอได้สดับคำเช่นนั้น แทนที่พระองค์จะยินดีปรีดาเพราะความปรารถนาของพระองค์สำเร็จแล้ว แต่พระองค์กลับทรงเสียพระทัยถึงกับมีพระโลหิตออกจากปากและจมูก แล้วล้มลงต่อหน้าหมู่ทหารและสวรรคต ณ ที่นั้นเอง
ในขณะที่กองทัพพระเจ้าสาสังการอทัพอยู่ ณ พุทธคยานั้นนั่นเอง กษัตริย์ชาวมคธคือพระเจ้าปุรณวรมา ได้เสด็จยกทัพมาถึงพอดี ฝ่ายพวกกองทัพของพระเจ้าสาสังกาซึ่งต่างอกสั่นขวัญหนีอยู่ก่อนแล้วก็ยิ่งเสียขวัญ ต่างแยกย้ายหนีเอาตัวรอดไปคนละทิศละทาง จากนั้นพระเจ้าปุรณวรมาก็ได้แกะแผ่นอิฐออก
ปัจจุบันพระพุทธเมตตา ซึ่งเป็นพระประธานในพระเจดีย์พุทธคยาที่อยู่คู่กันกับต้นพระศรีมหาโพธิ์ มีพระพักตร์ที่เปี่ยมด้วยความเมตตาเสมือนหนึ่งเป็นตัวเเทนแห่งการระลึกถึงพระเมตตาคุณของพระพุทธองค์ ที่เมื่อทรงตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ได้เมตตาโปรดสั่งสอนไวนัยสัตว์ทั้งเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายให้ได้รู้ตามคำสั่งสอนของพระองค์ ซึ่งได้ผ่านกาลเวลามายาวนาน จนเป็นหนึ่งในจุดหมายของการเดินทางจาริกธรรมแสวงบุญของพุทธศาสนิกชนทุกสารทิศ จากทุกนิกาย หลากหลายวิถีปฏิบัติ ต่างเชื้อชาติ ต่างภาษา ทั่วโลก ซึ่งต่างมุ่งเดินทางสู่พุทธคยา เพื่อจักได้เจริญจิตภาวนา สวดมนต์ปฏิบัติบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอันเป็นการบูชาสูงสุดในทางพระพุทธศาสนา









Cr.พระสนิทวงศ์ วุฒิวํโส