วันศุกร์ที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2562

คันธกุฎี หรือ พระมูลคันธกุฎี พาราณสี

ในที่สุดก็ได้มากราบพระพุทธเจ้าถึงกุฏิ
พุทธศาสนาบังเกิดขึ้น ณ ดินแดนแห่งนี้ แล้วส่งพุทธสาวกออกไปเผยแผ่ทั่วทุกสารทิศ จนถึงดินแดนสยามประเทศ ทำให้ "เรา" ได้รับอมตธรรมอันทรงคุณค่า ได้ออกบวชกระทั่ง พ.ศ. ๒๕๖๑ ล่วงมา ๒๑ พรรษา จึงได้มากราบพระพุทธเจ้า ณ พระคันธกุฎีของพระองค์ 🙏🙏🙏🙏🙏
🌟🌟🌟🌟🌟
คันธกุฎี หรือ พระมูลคันธกุฎี (อังกฤษ: Mulagandhakuti; แปลว่า กุฎีที่มีกลิ่นหอม) เป็นชื่อเรียกสถานที่ประทับของพระพุทธเจ้าโดยเฉพาะ เรียกเต็มว่า "พระมูลคันธกุฎี" ในพุทธประวัติ เล่าว่าสถานที่ประทับของพระพุทธเจ้าทุกแห่งจะมีผู้นำของหอมนานาชนิดไม่ว่าจะเป็นไม้หอม ดอกไม้หอม เป็นต้น
🌟🌟🌟🌟🌟
ในช่วงต้นพุทธกาล เมื่อพระพุทธเจ้าทรงประกาศธรรม มีผู้ศรัทธาและรู้แจ้งธรรมเพิ่มขึ้นๆ อย่างรวดเร็ว ในไม่ช้าพระอรหันตสาวกก็มีจำนวนถึง ๖๐ รูป ครั้งนั้น ประมาณ ๕ เดือนหลังตรัสรู้ พระพุทธเจ้าได้ทรงส่งพระสาวก ๖๐ รูปแรกออกไปประกาศพระศาสนา ด้วยพระดำรัสที่เรามักนำเฉพาะตอนที่ถือกันว่าสำคัญมากมาอ้างอิงอยู่เสมอ คือ พุทธพจน์ที่ว่า “จรถ ภิกฺขเว จาริกํ พหุชนหิตาย พหุชนสุขาย โลกานุกมฺปาย.” แปลว่า "...ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงจาริกไป เพื่อประโยชน์ และ ความสุขของชนจำนวนมาก เพื่อเกื้อการุณย์แก่โลก..."
(พระดำรัสเต็มว่า "ภิกษุทั้งหลาย เราพ้นแล้ว จากบ่วงทั้งปวง ทั้งที่เป็นของทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์ แม้พวกเธอก็พ้นแล้วจากบ่วงทั้งปวง ทั้งที่เป็นของทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์ เธอทั้งหลายจงจาริกไป เพื่อประโยชน์ และ ความสุขของชนจำนวนมาก เพื่อเกื้อการุณย์แก่โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุข แก่ทวยเทพ และ มวลมนุษย์ พวกเธออย่าได้ไปรวมทางเดียวกันสองรูป จงแสดงธรรม อันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด จงประกาศพรหมจริยะ อันบริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะ สัตว์ทั้งหลายจำพวกทีมีธุลี คือ กิเลสในจักษุน้อย มีอยู่ แต่เพราะไม่ได้ฟังธรรม ก็จะเสื่อมไปเสีย ผู้รู้ทั่วถึงธรรม จักมี, แม้เราก็จักไปยังตำบลอุรุเวลาเสนานิคม เพื่อแสดงธรรม" (วินย.๔/๓๒/๓๙)





Cr.พระสนิทวงศ์ วุฒิวํโส

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น