วันศุกร์ที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2562

นาลันทา แคว้นมคธ

นาลันทา ซากประวัติศาสตร์ความรู้ที่หายไปกับความรุนแรง ... น่าเสียดาย
นาลันทา เป็นชื่อเมือง ๆ หนึ่งในแคว้นมคธ อยู่ห่างจากพระนครราชคฤห์ประมาณ 1 โยชน์ (ประมาณ 16 กิโลเมตร) ณ เมืองนี้มีสวนมะม่วง ชื่อ ปาวาริกัมพวัน (สวนมะม่วงของปาวาริกเศรษฐี) ซึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จมาประทับแรมหลายครั้งคัมภีร์ฝ่ายมหายานกล่าวว่า พระสารีบุตรและพระมหาโมคคัลลานะ ซึ่งเป็นอัครสาวก เกิดที่เมืองนาลันทา แต่คัมภีร์ฝ่ายบาลีเรียกถิ่นเกิดของ พระสารีบุตรว่า หมู่บ้านนาลกะหรือนาลันทคาม "นาลันทามหาวิชชาลัยของพุทธศาสนานิกายมหายาน"
ภายหลังพุทธกาล ชื่อเมืองนาลันทาเงียบหายไประยะหนึ่ง หลวงจีนฟาเหียนซึ่งจาริกมาสืบศาสนาในชมพูทวีป ราว พ.ศ. 944-953 บันทึกไว้ว่าได้พบเพียงสถูปองค์หนึ่งที่นาลันทา แต่ต่อมาไม่นาน กษัตริย์ราชวงศ์คุปตะพระองค์หนึ่งพระนามว่าศักราทิตย์ หรือกุมารคุปตะที่ 1 ซึ่งครองราชย์ประมาณ พ.ศ. 958-998 ได้ทรงสร้างวัดอันเป็นสถานศึกษาขึ้นแห่งหนึ่งที่เมืองนาลันทา และกษัตริย์พระองค์ ต่อๆ มาในราชวงศ์นี้ก็ได้สร้างวัดอื่นๆ เพิ่มขึ้นในโอกาสต่างๆ จนมีถึง 6 วัด อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน ในที่สุดได้มีการสร้างกำแพงใหญ่อันเดียวล้อมรอบ ทำให้วัดทั้ง 6 รวมเข้าด้วยกันเป็นหนึ่งเดียว เรียกว่า นาลันทามหาวิหาร และได้กลายเป็นศูนย์กลางการศึกษาที่ยิ่งใหญ่ แห่งสำคัญยิ่ง ที่นักประวัติศาสตร์สมัยปัจจุบัน เรียกกันทั่วไปว่า “มหาวิทยาลัยนาลันทา”
พระเจ้าหรรษาวรรธนะ มหาราชพระองค์หนึ่งของอินเดีย ซึ่งครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 1149-1191 ก็ได้ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ของมหาวิทยาลัยนาลันทา หลวงจีนเหี้ยนจัง (พระถังซำจั๋ง) ซึ่งจาริกมาสืบพระศาสนาในอินเดียในรัชกาลนี้ ในช่วง พ.ศ. 1172-1187 ได้มาศึกษาที่นาลันทามหาวิหาร และได้เขียนบันทึกบรรยายอาคารสถานที่ที่ใหญ่โตและศิลปกรรมที่วิจิตรงดงาม ท่านเล่าถึงกิจกรรมทางการศึกษา ที่รุ่งเรืองยิ่ง นักศึกษามีประมาณ 10,000 คน และมีอาจารย์ประมาณ 1,500 คน พระมหากษัตริย์พระราชทานหมู่บ้าน 200 หมู่โดยรอบให้ โดยทรงยกภาษีที่เก็บได้ให้เป็นค่าบำรุงมหาวิทยาลัย ผู้เล่าเรียนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น วิชาที่สอนมีทั้งปรัชญา โยคะ ศัพทศาสตร์ เวชชศาสตร์ ตรรกศาสตร์ นิติศาสตร์ นิรุกติศาสตร์ ตลอดจนโหราศาสตร์ ไสยศาสตร์ และตันตระ
แต่ที่เด่นชัดก็คือนาลันทาเป็นศูนย์กลางการศึกษาพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน และเพราะความที่มีกิตติศัพท์เลื่องลือมาก จึงมีมีนักศึกษาเดินทางมาจากต่างประเทศหลายแห่ง เช่น จีน ญี่ปุ่น เอเซียกลาง สุมาตรา ชวา ทิเบต และมองโกเลีย เป็นต้น หอสมุดของนาลันทาใหญ่โตมากและมีชื่อเสียงไปทั่วโลก เมื่อคราวที่ถูกเผาทำลายในสมัยต่อมา มีบันทึกกล่าวว่าหอสมุดนี้ไหม้อยู่เป็นเวลาหลายเดือน หลวงจีนอี้จิงซึ่งจาริกมาในระยะประมาณ พ.ศ. 1223 ก็ได้มาศึกษาที่นาลันทาและได้เขียนบันทึกเล่าไว้อีก นาลันทารุ่งเรืองสืบมาช้านานจนถึงสมัยราชวงศ์ปาละ (พ.ศ. 1303-1685) กษัตริย์ราชวงศ์นี้ก็ทรงอุปถัมภ์มหาวิหารแห่งนี้ เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยอื่นๆ โดยเฉพาะโอทันตปุระที่ได้ทรงสถาปนาขึ้นใหม่
อย่างไรก็ดี ในระยะหลังๆ นาลันทาได้หันไปสนใจการศึกษาพุทธศาสนาแบบตันตระ ที่ทำให้เกิดความย่อหย่อนและหลงเพลินทางกามารมณ์ ซึ่งเมื่อพระที่ควรงดเว้นเรื่องกามตามหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา กลับหันมาเสพกามเสียแล้ว ก็ทำให้เหล่าอุบาสก อุบาสิกาเริ่มเสื่อมศรัทธาจนส่งผลให้ไม่สนใจใยดีพระศาสนา ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของพระสงฆ์ฝ่ายเดียวต่างจากลัทธิพราหมณ์เริ่มที่จะปรับตัวจนกลายมาเป็น ฮินดู การปรับตัวนั้นก็เพื่อต่อสู้กับการเจริญเติบโตของพุทธศาสนา จากลัทธิพราหมณ์ที่ไม่มีนักบวช ก็มี ไม่มีวัด ก็มี จากการเข่นฆ่าบูชายัญสัตว์ ก็หันมานับถือสัตว์บางประเภทและประกาศไม่กินเนื้อ เช่น วัว สร้างเรื่องให้พระพุทธเจ้าก็กลายเป็นอวตารหนึ่งของเทพเจ้าในศาสนาฮินดูและทำให้พุทธศาสนากลมกลืนกับศาสนาฮินดูมากขึ้น ซึ่งเป็นเหตุสำคัญอย่างหนึ่งแห่งความเสื่อมโทรมของพระพุทธศาสนา
ในประมาณ พ.ศ. 1742 กองทัพมุสลิมเติรกส์ได้ยกมารุกรานรบชนะกษัตริย์แห่งชมพูทวีปฝ่ายเหนือ และเข้าครอบครองดินแดนโดยลำดับ กองทัพมุสลิมเติรกส์ได้เผาผลาญทำลายวัดและปูชนียสถานในพุทธศาสนาลงแทบทั้งหมด และสังหารผู้ที่ไม่ยอมเปลี่ยนศาสนา นาลันทามหาวิหารก็ถูกเผาผลาญทำลายลงในช่วงระยะเวลานั้นด้วย มีบันทึกของนักประวัติศาสตร์ชาวมุสลิมเล่าว่า ที่นาลันทา พระภิกษุถูกสังหารแทบหมดสิ้น และมหาวิทยาลัยนาลันทาก็ก้าวถึงความพินาศสูญสิ้นลงแต่บัดนั้นมา
จากการบันทึกของท่าน ตารนาท ธรรมสวามินปราชญ์เขียนเอาไว้ว่า พอกองทัพมุสลิมยกทัพกลับไปแล้ว พระ นักศึกษา และพระอาจารย์ ที่มหาวิทยาลัยสงฆ์นาลันทา ซึ่งเหลืออยู่ประมาณ 70 องค์ ก็พากันออกมาจากที่ซ่อน ทำการสำรวจข้าวของที่ยังหลงเหลืออยู่ รวบรวมเท่าที่จะหาได้ ปฏิสังขรณ์ตัดทอนกันเข้าก็พอได้ใช้สอยกันต่อมา และ ท่านมุทิตาภัทร รัฐมนตรีของกษัตริย์ในสมัยนั้นได้จัดทุนทรัพย์จำนวนหนึ่ง ส่งไปจากแคว้นมคธ เพื่อช่วยเหลือซ่อมแซมปฏิสังขรณ์วัดวาอารามที่นาลันทาขึ้นมาใหม่แต่ก็ทำได้บางส่วนเท่านั้น
แต่แล้ววันหนึ่งได้มีปริพาชก 2 คนได้เข้ามาประกอบพิธีกรรมทางศาสนาของตนขึ้นและคงคิดว่าเพียงพอแล้วที่จะอยู่ที่นี่ต่อไป จึงได้รวบรวมเศษไม้แล้วก่อไฟขึ้น พร้อมทั้งขว้างปาดุ้นฟืนที่ติดไฟไปตามสถานที่ต่างๆ โดยรอบ จนกระทั่งเกิดไฟลุกไหม้ไปทั่วมหาวิทยาลัยนาลันทา ก็เป็นอันแหลกลาญเป็นผุยผง สุดที่จะทำการซ่อมแซมปฏิสังขรณ์ให้คืนดีได้ดังเดิม มหาวิทยาลัยนาลันทา อันเลื่องชื่อลือนาม ก็เป็นอันสิ้นสุดลง ถูกปล่อยให้รกร้างว่างเปล่า มาตั้งแต่บัดนั้นซากของนาลันทาที่ถูกขุดค้นพบในภายหลัง ยังประกาศยืนยันอย่างชัดเจนถึงความยิ่งใหญ่ของนาลันทาในอดีตในปลายพุทธศตวรรษที่ 25







ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น