วันศุกร์ที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2562

คันธเจดีย์ เวสาลี

ในพรรษาที่ ๔๕ อันเป็นพรรษาสุดท้ายแห่งพระชนมายุ ในช่วงเหมันตฤดู พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จประทับ ณ บ้านเวฬุคาม เขตเมืองเวสาลีหรือไพศาลี แคว้นวัชชี อันเป็นสถานที่ทรงพิจารณาชราธรรมแสดงโอฬาริกนิมิต และปลงมายุสังขาร ต่อจากนั้นพระผู้มีพระภาคจึงนำภิกษุจำนวน ๕๐๐ รูป เสด็จประทับ ณ กูฏาคารศาลาในป่ามหาวัน ในครั้งนั้นบรรดากษัตริย์ลิจฉวีแห่งแคว้นวัชชีทั้งหมดซึ่งร่วมกันปกครองแบบสามัคคีธรรม ได้ทราบข่าวการเสด็จมาของพระพุทธองค์ จึงนำเครื่องสักการบูชามาถวายเป็นอันมาก พร้อมน้อมฟังพระธรรมเทศนาบังเกิดความรื่นเริงในธรรมโดยถ้วนหน้ากัน
ครั้นรุ่งเช้า พระบรมศาสดาพร้อมกับภิกษุสงฆ์ได้เสด็จเข้าไปรับอาหารบิณฑบาตตามที่บรรดากษัตริย์ลิจฉวี ทูลนิมนต์และจัดถวายในพระราชนิเวศ ครั้นทำภัตกิจและแสดงพระธรรมเทศนาโปรดแล้ว จึงนำเหล่าภิกษุสงฆ์เสด็จออกจากพระนครเวสาลี พระบรมศาสดาเสด็จประทับยืนอยู่หน้าประตูเมืองเวสาลี เยื้องพระกายผินพระพักตร์มาทอดพระเนตรเมืองเวสาลีเป็นครั้งสุดท้าย พร้อมรับสั่งว่า
“ดูก่อนอานนท์ การเห็นเมืองเวสาลีของตถาคตครั้งนี้ เป็นปัจฉิมทัศนะ คือเป็นการเห็นครั้งสุดท้าย”
สถานที่เสด็จประทับยืนทอดพระเนตรโดยพระอาการที่แปลกจากเดิม พร้อมทั้งรับสั่งเป็นนิมิตเช่นนั้นเป็นเจดีย์สถานอันสำคัญเรียกว่า “นาคาวโลกเจดีย์” นาคาวโลก คือ การเหลียวมองอย่างพญาช้าง คือการยืนหันหลังให้กับสิ่งนั้นหรือเดินจากสิ่งนั้นแล้วหันพระพักตร์เอี้ยวคอหันไปทอดพระเนตรสิ่งของหรือสถานที่ ที่อยู่ทางเบื้องหลัง ซึ่งเป็นอาการที่พระพุทธเจ้าทรงทำเป็นครั้งแรกและครั้งเดียว เหตุที่พระบรมศาสดาตรัสเช่นนี้ถือเป็นมรณญาณ คือ เป็นลางบอกให้พระสงฆ์สาวกและพุทธบริษัททราบล่วงหน้า เพราะเป็นเวลาใกล้ที่จะปรินิพพานจึงไม่อาจกลับมาเห็นเมืองเวสาลีประการหนึ่ง
และอีกประการหนึ่งคือพระพุทธองค์ทรงทราบด้วยพระญาณล่วงหน้าถึงความเป็นไปภายหลังพุทธปรินิพพานว่า นอกจากพระองค์แล้วแม้มหาชนทั่วไปก็ไม่อาจได้เห็นเมืองเวสาลีอีก เนื่องจากเมื่อพระบรมศาสดาปรินิพพานแล้ว กองทัพของพระเจ้าอชาตศัตรูผู้เป็นกษัตริย์แห่งแคว้นมคธได้มีชัยเหนือเมืองเวสาลี เอกราชของบรรดากษัตริย์ลิจฉวีที่ปกครองโดยสามัคคีธรรมก็สูญสิ้นไปนับแต่นั้นมา ทั้งนี้เพราะบรรดากษัตริย์ลิจฉวีมิได้ตั้งมั่นอยู่ใน “ลิจฉวีอปริหานิยธรรม” อันเป็นธรรมที่พระบรมศาสดาประทานสำหรับใช้ปกครองร่วมกันแบบสามัคคีธรรม ซึ่งสามารถต้านทานกองทัพอันเกรียงไกรของพระเจ้าอชาตศัตรูไว้ได้ถึง ๒ ครั้ง แต่ในครั้งที่ ๓ พระเจ้าอชาตศัตรูได้ส่ง วัสสการพราหมณ์ เข้ามายุยงปลุกปั่นให้บรรดากษัตริย์นักรบทั้งหลายแตกร้าวในความสามัคคี ไม่ตั้งมั่นอยู่ในหลักอปริหานิยธรรมเมืองเวสาลีก็ถึงกาลอันล่มสลาย
จากนั้นจึงตรัสสั่งให้พระอานนท์พร้อมทั้งเหล่าพระภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่เดินทางไปสู่บ้านภัณฑุคาม ป่ามหาวัน บ้านหัตถีคาม บ้านอัมพะคาม บ้านชัมพูคาม และโภคนครโดยลำดับ ภายหลังจากแสดงธรรมโปรดพุทธบริษัทชาวเมืองโภคนครและ พระพุทธเจ้าทรงเสด็จไปยังเมืองปาวานคร เสด็จเข้าประทับพำนักอยู่ที่อัมพวันสวนมะม่วงของนายจุนทะกัมมารบุตรซึ่งอยู่ใกล้เมืองปาวานั้น
ความสำคัญของเมืองเวสาลี
เวสาลี หรือ ไวศาลี คือเมืองโบราณในสมัยพุทธกาล มีความสำคัญในฐานะที่เป็นเมืองหลวงของคณะเจ้าลิจฉวี ที่มีการปกครองแคว้นวัชชีด้วยระบอบคณาธิปไตยแห่งแรก ๆ ของโลก (บ้างก็ว่าด้วยระบอบประชาธิปไตย) เมืองนี้เป็นเมืองที่เจริญรุ่งเรืองอย่างยิ่งในสมัยพุทธกาล เป็นเมืองที่มั่นแห่งสำคัญของพระพุทธศาสนาในสมัยนั้น โดยพระพุทธเจ้าเคยเสด็จเยี่ยมเมืองแห่งนี้ในปีที่ ๕ หลังการตรัสรู้ ตามการกราบบังคมทูลเชิญจากเจ้าผู้ครองแคว้น และในช่วงหลังพุทธกาล เมืองแห่งนี้ได้ตกเป็นของแคว้นมคธโดยการนำของพระเจ้าอชาตศัตรูพระราชาแห่งเมืองราชคฤห์ และหลังการล่มสลายของราชวงศ์พิมพิสารในเมืองราชคฤห์ พระราชาองค์ต่อมาจึงได้ย้ายเมืองหลวงแห่งแคว้นมคธมายังเมืองเวสาลี ทำให้เมืองแห่งนี้เจริญถึงขีดสุด และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมืองนี้ได้เป็นสถานที่ทำทุติยสังคายนาของพระพุทธศาสนา ก่อนที่จะเสื่อมความสำคัญและถูกทิ้งร้างลงเมื่อมีการย้ายเมืองหลวงของแคว้นมคธไปยังเมืองปาฏลีบุตรหรือเมืองปัตนะอันเป็นเมืองหลวงของรัฐพิหารในปัจจุบัน เวสาลีมีความสำคัญมาตั้งแต่สมัยก่อนพุทธกาล โดยเป็นเมืองหลวงแห่งแคว้นที่มีความเจริญรุ่งเรืองมากแคว้นหนึ่งในบรรดา ๑๖ แคว้นของชมพูทวีป มีการปกครองด้วยระบบสามัคคีธรรมหรือคณาธิปไตย ที่สามารถเรียกได้ว่าเป็นการปกครองแบบประชาธิปไตยระบบหนึ่ง คือไม่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขทรงอำนาจสิทธิ์ขาด มีแต่ผู้เป็นประมุขแห่งรัฐซึ่งบริหารงานโดยความเห็นชอบจากรัฐสภา ซึ่งจะประกอบไปด้วยเหล่าสมาชิกจากเจ้าวงศ์ต่าง ๆ ซึ่งรวมเป็นคณะผู้ครองแคว้น ในคัมภีร์พระพุทธศาสนากล่าวว่าเจ้าวงศ์ต่าง ๆ มีถึง ๘ วงศ์ และในจำนวนนี้วงศ์เจ้าลิจฉวีแห่งเวสาลีและวงศ์เจ้าวิเทหะแห่งเมืองมิถิลาเป็นวงศ์ที่มีอิทธิพลที่สุดในสมัยพุทธกาล
ในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าเคยเสด็จมาที่เวสาลีหลายครั้ง แต่ละครั้งจะทรงประทับที่กูฏาคารศาลาป่ามหาวันเป็นส่วนใหญ่ พระสูตรหลายพระสูตรเกิดขึ้นที่เมืองแห่งนี้ และที่กูฏาคารศาลานี่เอง ที่เป็นที่ ๆ พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้พระนางมหาปชาบดีโคตมีเถรี พระน้านางของพระพุทธองค์ พร้อมกับบริวาร สามารถอุปสมบทเป็นภิกษุณีได้เป็นครั้งแรกในโลก และในการเสด็จครั้งสุดท้ายของพระพุทธองค์ พระองค์ได้ทรงรับสวนมะม่วงของนางอัมพปาลี นางคณิกาประจำเมืองเวสาลี ซึ่งนางได้อุทิศถวายเป็นอารามในพระพุทธศาสนา พระพุทธองค์ได้ทรงจำพรรษาสุดท้ายที่เวฬุวคาม และได้ทรงปลงอายุสังขารที่ปาวาลเจดีย์ และเมื่อหลังพุทธปรินิพพานแล้วได้ ๑๐๐ ปี ได้มีการทำสังคายาครั้งที่ ๒ ณ วาลิการาม ซึ่งทั้งหมดล้วนอยู่ในเมืองเวสาลี ในช่วงไม่นานหลังพุทธปรินิพพานของพระพุทธเจ้า เมืองเวสาลีได้ตกไปอยู่ในอำนาจของแคว้นมคธ โดยการนำของพระเจ้าอชาตศัตรู กษัตริย์แห่งราชคฤห์ คัมภีร์พระพุทธศาสนากล่าวว่า สาเหตุของการเสียเมืองแก่แคว้นมคธ เพราะความแตกสามัคคีของเจ้าวัชชี เพราะการยุยงของวัสสการพราหมณ์ พราหมณ์ที่พระเจ้าอชาตศัตรูส่งเป็นไส้สึกเพื่อบ่อนทำลายภายใน เมื่อพระเจ้าอชาตศัตรูยกกองทัพมายึดเมืองจึงสามารถยึดได้โดยง่าย เพราะไม่มีเจ้าวัชชีองค์ใดต่อสู้ เพราะขัดแย้งกันเอง ทำให้แคว้นวัชชีล่มสลายและเมืองเวสาลีหมดฐานะเมืองหลวงแห่งแคว้นและตกไปอยู่ในอำนาจของแคว้นมคธ แต่จากเหตุการณ์ย้ายเมืองหลวงแห่งแคว้นมคธหลายครั้งในช่วง พ.ศ. ๗๐ ที่เริ่มจากอำมาตย์และราษฎรพร้อมใจกันถอดกษัตริย์นาคทัสสก์แห่งราชวงศ์ของพระเจ้าพิมพิสารแห่งราชคฤห์ออกจากพระราชบัลลังก์ และยกสุสูนาคอำมาตย์ซึ่งมีเชื้อสายเจ้าลิจฉวีในกรุงเวสาลีแห่งแคว้นวัชชีเก่าให้เป็นกษัตริย์ตั้งราชวงศ์ใหม่แล้ว พระเจ้าสุสูนาคจึงได้ทำการย้ายเมืองหลวงของแคว้นมคธไปยังเมืองเวสาลีอันเป็นเมืองเดิมของตน ทำให้เมืองเวสาลีมีความสำคัญในฐานะเมืองหลวงอีกครั้ง แต่ทว่าก็เป็นเมืองหลวงได้ไม่นาน เพราะกษัตริย์พระองค์ต่อมาคือพระเจ้ากาลาโศกราช ผู้เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าสุสูนาค ได้ย้ายเมืองหลวงของแคว้นมคธอีก จากเมืองเวสาลีไปยังเมืองปาตลีบุตร ทำให้เมืองเวสาลีถูกลดความสำคัญลงและถูกทิ้งร้าง ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เมืองแห่งนี้ถูกทิ้งร้างอย่างสิ้นเชิงในช่วงพันปีถัดมา
ภาพ : คันธเจดีย์ เป็นบริเวณที่กษัตริย์ลิจฉวีได้จัดพิธีต้อนรับพระพุทธองค์ ที่เสด็จมาสู่เวสาลี

Cr.พระสนิทวงศ์ วุฒิวํโส

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น